
แนวรับ แนวต้าน คืออะไร? ความรู้พื้นฐาน Forex ความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งที่เทรดเดอร์ทุกคนต้องเรียนรู้ก่อนที่จะเข้ามาทำกำไรในตลาด Forex เพราะถ้าคุณไม่มีความรู้แล้วเดินเข้ามาแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ อาจจะทำให้คุณหมดตัวได้ภายในไม่กี่นาทีอย่างแน่นอน ดังนั้นการที่คุณเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐาน Forex ก่อนนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด บทความนี้ผมจึงอยากให้คุณได้รู้จักกับเครื่องมือพื้นฐานที่เทรดเดอร์ Forex และตลาดเงินอื่นๆต้องรู้นั่นก็คือ แนวรับ (support) และ แนวต้าน (Resistance) เพราะสองอย่างนี้สามารถนำไปใช้กับสิ่งต่างๆในตลาด Forex ได้อย่างมากมาย ถ้าคุณไม่มีความรู้เรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีอย่างแน่นอนในการอยู่รอดในตลาดเงินนี้ แต่ก็ยังมีเทรดเดอร์บางคนและเทรดเดอร์มือใหม่ที่ไม่รู้ว่า แนวรับ (support) – แนวต้าน (Resistance) คืออะไร จึงเป็นที่มาของบทความนี้ที่ผมอยากจะถ่ายทอดความรู้ให้เทรดเดอร์ทุกๆคนว่า แนวรับ (support) – แนวต้าน (Resistance) คืออะไร และสามารถใช้มันทำประโยชน์อะไรในตลาด Forex ได้บ้าง
แนวรับ (Support) – แนวต้าน (Resistance) คืออะไร?
แนวรับ (Support) คือ จุดที่กราฟราคาไม่สามารถทะลุผ่านลงมาได้เนื่องจาก ช่วงบริเวณนั้นแรงขายได้อ่อนลงและมีแรงซื้อเข้ามาจำนวนมากจนกราฟราคากลับขึ้นไป และต้องมีจุดที่กราฟราคาไม่สามารถผ่านไปได้อย่างน้อย 2 จุด ถึงจะเรียกว่าแนวรับ (support)
แนวต้าน (Resistance) คือ จุดที่กราฟราคาไม่สามารถทะลุผ่านขึ้นไปได้เนื่องจาก ช่วงบริเวณนั้นแรงซื้อได้อ่อนลงและมีแรงขายเข้ามาจำนวนมากจนกราฟราคากลับลงมา และต้องมีจุดที่กราฟราคาไม่สามารถผ่านไปได้อย่างน้อย 2 จุด ถึงจะเรียกว่าแนวต้าน(Resistance)
*ถ้าเกิดว่ากราฟราคาทะลุแนวรับและแนวต้านใหเทรดเดอร์คาดการณ์ว่าแนวรับและแนวต้านรั้งราคาไว้ไม่อยู่ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มเร็วๆนี้
วิธีลากเส้น Trend Line (เทรนไลน์)
ก่อนอื่นคุณต้องรู้ก่อนว่าสภาวะหรือแนวโน้ม ( Trend ) คืออะไร ซึ่งมันก็คือ การเคลื่อนที่ของราคาที่บ่งบอกว่าราคาเคลื่อนที่ไปทางใดทางหนึ่งโดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ และการลากเส้น Trend Line (เทรนไลน์) จะมีทั้งหมด 3 ประเภทเช่นกันได้แก่
1. Up Trend (แนวโน้มขาขึ้น)
Up Trend (แนวโน้มขาขึ้น) หมายถึง แนวโน้มที่เป็นขาขึ้น ราคาจะมีรูปแบบการปรับตัวสูงขึ้นโดยลักษณะของแนวโน้มขาขึ้นต้องมีจุดสูงสุดใหม่ที่สูงกว่าจุดสูงสุดเก่าและจุดต่ำสุดใหม่ต้องสูงกว่าจุดต่ำสุดเก่า
- ถ้าเทรดเดอร์เจอแนวโน้มขาขึ้นให้คุณลากเส้น Trend Line (เทรนไลน์) จาก จุดต่ำสุดเก่า (แนวรับ)ไป จุดต่ำสุดใหม่ (แนวรับ) เป็นแนวเฉียงขึ้นไปอย่างน้อย 2 จุด
2. Down Trend (แนวโน้มขาลง)
Down Trend (แนวโน้มขาลง) หมายถึง แนวโน้มที่เป็นขาลง ราคาจะมีรูปแบบการปรับตัวที่ต่ำลงโดยลักษณะของแนวโน้มขาลงต้องมีจุดสูงสุดใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดเก่าและจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดเก่า
- ถ้าเทรดเดอร์เจอแนวโน้มขาลงให้คุณลากเส้น Trend Line (เทรนไลน์) จาก จุดสูงสุดเก่า (แนวต้าน) ไป จุดสูงสุดใหม่ (แนวต้าน) เป็นแนวเฉียงลงมาอย่างน้อย 2 จุดขึ้นไป
3. Sideway (แนวโน้มเคลื่อนที่ไปด้านข้าง)
Sideway (แนวโน้มเคลื่อนที่ไปด้านข้าง) หมายถึง แนวโน้มที่ไม่แน่นอน ราคาจะมีรูปแบบเคลื่อนที่ไปด้านข้าง ไม่มีทิศทางที่ชัดเจนและมีความผันผวนสูง ลักษณะของแนวโน้ม Sideway จะมีจุดสูงสุดใหม่ที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดเก่าและจุดต่ำสุดใหม่ต้องใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดเก่า เทรดเดอร์บางคนใช้แนวโน้ม Sideway ในการทำกำไรโดยใช้ แนวรับ-แนวต้าน เป็นจุดเข้า ซื้อ-ขาย
- ถ้าเทรดเดอร์เจอแนวโน้ม Sideway ให้คุณลากเส้น Trend Line (เทรนไลน์) จาก “จุดสูงสุดเก่า” ไป “จุดสูงสุดใหม่” เป็นแนวนอนมาอย่างน้อย 2 จุดขึ้นไป (เส้นแนวต้าน)
- และให้คุณลากอีกเส้นจาก “จุดต่ำสุดเก่า” ไป “จุดต่ำสุดใหม่” เป็นแนวนอนอย่างน้อย 2 จุดขึ้นไป (เส้นแนวรับ)
เส้น Trend Line (เทรนไลน์) เส้นเดียวก็สามารถเป็นได้ทั้งแนวรับหรือแนวต้านได้เช่นกัน
วิธีทำกำไรจากเส้น แนวรับ (support) – แนวต้าน (Resistance)
- ถ้ากราฟราคาลงมาถึงเส้น แนวรับ (support) ให้คุณคาดการณ์ว่ากราฟราคาอาจจะมีการกลับตัวเร็วๆนี้ ให้คุณเตรียมตัวเปิดออเดอร์ Buy ถ้ากราฟราคาไม่สามารถทะลุผ่านเส้นแนวรับ (support) ขึ้นไปได้
- ถ้ากราฟราคาลงมาถึงเส้น แนวต้าน (Resistance) ให้คุณคาดการณ์ว่ากราฟราคาอาจจะมีการกลับตัวลงเร็วๆนี้ ให้คุณเตรียมตัวเปิดออเดอร์ Sell ถ้ากราฟราคาไม่สามารถทะลุผ่านเส้นแนวต้าน (Resisrance) ลงมาได้
Breakout ที่แนวรับ-แนวต้าน มีความหมายว่า การที่กราฟราคาทะลุแนวรับ-แนวต้านภายในเส้นที่คุณกำหนดไว้ ซึ่งการ Breakout แบบนี้จะเป็นการให้สัญญาณบอกว่ากราฟราคาอาจจะมีการกลับตัวหรือเปลี่ยนแนวโน้มเร็วๆนี้
ถ้าหากเจอการ Breakout ที่แนวต้าน ในลักษณะนี้ให้เทรดเดอร์เตรียมตัวเปิดออเดอร์ Buy เมื่อกราฟราคาทะลุแนวต้านขึ้นไป และกราฟราคาต้องอยู่เหนือเส้นแนวต้านที่จบแท่งแล้วเท่านั้นถึงเรียกว่า Breakout ที่แนวต้าน
ถ้าหากเจอการ Breakout ที่แนวรับ ในลักษณะนี้ให้เทรดเดอร์เตรียมตัวเปิดออเดอร์ Sell เมื่อกราฟราคาทะลุแนวรับลงมา และกราฟราคาต้องอยู่ใต้เส้นแนวรับที่จบแท่งแล้วเท่านั้นถึงเรียกว่า Breakout ที่แนวรับ (ตามรูปจุดกากบาท)